วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

การเขียนบรรณานุกรม


เรื่องการเขียนบรรณานุกรม                               วิชาห้องสมุดและการศึกษาค้นคว้า     
การจัดทำบรรณานุกรม
บรรณานุกรม  หมายถึง  รายชื่อหนังสือและสิ่งพิมพ์อื่นๆ  รวมทั้งโสตทัศนวัสดุที่มีการลงรายการตามแบบที่กำหนดไว้ของแต่ละประเภท  และมีการเรียบเรียงตามลำดับอักษรชื่อผู้แต่งตาม
แบบพจนานุกรม
           แบบบรรณานุกรมที่กำหนดขึ้นไว้ในแต่ละสถาบันอาจแตกต่างกันในเรื่องเครื่องหมายและ
การย่อหน้าแต่ละรายการที่เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์และโสตทัศนวัสดุกับหลักเกณฑ์ในการลงรายการในบรรณานุกรมจะเหมือนกันดังนั้นหากห้องสมุดได้กำหนดใช้แบบใครยึดถือแบบนั้นตลอดไปเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนโดยเฉพาะกับนักเรียน   ครูแนะนำนักเรียนด้วยว่าบรรณานุกรมมีหลายแบบ  และที่โรงเรียนใช้แบบใดเมื่อนักเรียนไปศึกษาต่อที่อื่นควรได้ศึกษาแบบบรรณานุกรมขอองสถาบันนั้นๆ
และใช้ตามแบบโดยเคร่งครัด
          อนึ่ง  แบบบรรณานุกรมที่ใช้ในเอกสารนี้ใช้แบบของหนังสือชื่อ  แบบบรรณานุกรมและเชิงอรรถ ของ ม.ล.  จ้อย  นันทิวัชรินทร์  เป็นหลัก
          1.  แบบบรรณานุกรม
                   1.1  บรรณานุกรมหนังสือ  มีแบบการลงรายการและเครื่องหมายตามลำดับ  ดังนี้ 
ชื่อผู้แต่ง.  ชื่อหนังสือ.  ครั้งที่พิมพ์.  (ถ้าเป็นการพิมพ์ครั้งที่  2  ขึ้นไป
                 แต่ถ้าเป็นการพิมพ์ครั้งแรกไม่ต้องรายการนี้)  สถานที่พิมพ์  :  ผู้จัดพิมพ์ (สำนักพิมพ์หรือโรงพิมพ์),  ปีที่พิมพ์.
ตัวอย่างบรรณานุกรมหนังสือ
ธงทอง  จันทรางศุ.  ในกำแพงแก้ว.  กรุงเทพฯ:  บำรุงสาส์น,  2531.
Alexander,L.G.  and  others.  Englih Grammartical   Structure.  London :  Longman,  1985.

1.2  บรรณานุกรมบทความในสารานุกรม  มีแบบการลงรายการและเครื่องหมาย  ดังนี้
ชื่อผู้เขียนบทความ.  ชื่อบทความ,  ชื่อสารานุกรม,  ชื่อบรรณาธิการ
                  (ถ้ามี),  เล่มที่ของสารานุกรม  (ปีที่พิมพ์),  เลขหน้า.  ตัวอย่าง
กิตติ  ทองลงยา.  นก,  สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ในพระบาทสม -
               เด็จพระเจ้าอยู่หัว,  เล่ม 1  (2516), 68-113.



Dunkle,John  R.  Yugoslavia,    The  Book  of  Knowledge,   
                   vol. 19  (1963) , 6879-6881.
ถ้าบทความไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งให้ลงชื่อบทความเป็นรายการแรก  ดังตัวอย่าง
น้ำตาล  สารสำหรับคนชอบหวาน,  สารานุกรมวิทยาศาสตร์,  โดยสาขาครูวิทยาศาสตร์  
                    แห่งประเทศไทย  (2508), 83-84.
1.3  บรรณานุกรมบทความในวารสาร  มีรายละเอียดลงในบรรณานุกรม  ดังนี้
ชื่อผู้เขียนบทความ.  ชื่อบทความ,  ชื่อวารสาร,  ตัวเลขของปีที่,  ตัวเลขของฉบับที่
                (วัน เดือน,ปี),  เลขหน้า. 
ตัวอย่าง
เจต  วราหะ.  มาดใหม่ของบ้านแบบประหยัด,  รู้รอบตัว.  6,65 (มิถุนายน,2534),
               62.64.
1.4  บรรณานุกรมบทความในหนังสือพิมพ์  มีรายละเอียดที่ลงบรรณานุกรม  ดังนี้
ชื่อผู้เขียนบทความ.  ชื่อบทความ,  ชื่อหนังสือพิมพ์,  วัน  เดือน  ปี,  หน้า.
ตัวอย่าง
ไพลินทร์  สุรฤทธิ์แซวง.  ภูหินร่องกล้า...จากสนามรบ...มาสู่อุทยานแห่งชาติ, 
                   ไทยรัฐ,  17  มิถุนายน 2533,  หน้า 19.
          หากบทความไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนให้นำชื่อบทความมาลงเป็นรายการแรก  ดังตัวย่าง
นกกระทา  สัตว์เศรษฐกิจของมุกดาหาร,  มติชน,  26  เมษายน  2533,  หน้า  20.
2.  การเรียบเรียงบรรณานุกรม
          การจัดทำบรรณานุกรมครั้งหนึ่งๆ  ควรให้เป็นเรื่องเดียวกัน  และรวบรวมจากสิ่งพิมพ์หลายประเภท   ทั้งหนังสือ  วารสาร  หนังสือพิมพ์  บทความจากสารานุกรม  และอื่นๆ
2.1  วิธีรวบรวมบรรณานุกรม  ให้บันทึกรายละเอียดของสิ่งพิมพ์แต่ละประเภทที่ใช้ในการเขียนบรรณานุกรมลงในสลิปบัตรรายการแผ่นละ  1  ชื่อเรื่อง  โดยคัดจากหนังสือหรือ
แหล่งข้อมูลต่างๆ  เช่น  บัตรรายการหนังสือ  หนังสือบรรณานุกรม  ดรรชนีวารสารหรือหนังสือดรรชนีวารสาร  สารานุกรมฯลฯ
          การเรียบเรียงบรรณานุกรมมี  2  แบบ  คือ  เรียงแยกประเภทของสิ่งพิมพ์  และเรียงสิ่งพิมพ์
ทุกประเภทไว้รวมกัน  โดยเรียงลำดับอักษรผู้แต่งตามแบบพจนานุกรรม  สำหรับห้องสมุดโรงเรียน  นิยมใช้แบบหลังเพราะมีสิ่งพิมพ์มากนัก  และการลงบรรณานุกรมหนังสือควรให้ลงหน้าใช้ค้นคว้าต่อท้ายไว้ด้วยจะช่วยให้ครูสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้
2.2  วิธีเรียบเรียงบรรณานุกรมลงในแผ่นกระดาษ  ให้เลือกว่าจะใช้แบบใดแบบหนึ่งเสียก่อน  แล้วนำสลิปที่บันทึกไว้มาเรียงตามลำดับ  เขียนหรือพิมพ์โดยเริ่มที่กลางหน้ากระดาษว่า  บรรณานุกรม  (ไม่ต้องขีดเส้นใต้)  จากนั้นให้ลอกบรรณานุกรมจากสลิปลงกระดาษที่ละเรื่องจนหมด  โดยเว้นระยะดังตัวอย่าง
ครรชิต  มาลัยวงศ์.  ศิลปะการอ่านหนังสือ.  กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,  2528.

วัสดุสารนิเทศ


เรื่องวัสดุสารนิเทศ           วิชาห้องสมุดและการศึกษาค้นคว้า    

ความหมายของวัสดุสารนิเทศ
          วัสดุสารนิเทศ  หมายถึง  วัสดุที่ได้บันทึกความรู้ความคิด  ข้อมูลข่าวสาร  และข้อเท็จจริงในรูปแบบต่างๆและสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นๆได้รับรู้ด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง  แบ่งออกเป็น  2  ประเภทใหญ่ๆ  คือ
          1.  วัสดุสิ่งพิมพ์  หมายถึง  สิ่งพิมพ์ที่ตีพิมพ์เป็นตัวอักษร รวบรวมศัพท์ความรู้ต่างๆไว้ในรูปของสิ่งพิมพ์  เช่น  วารสาร  จุลสาร  หนังสือพิมพ์  เป็นต้น
          2.  วัสดุไม่ได้ตีพิมพ์  หมายถึง  วัสดุที่ให้ความรู้  ความคิดต่างๆผ่านทางตา   ทางหู  ได้แก่  รูป  ภาพ  แผนที่  ภาพยนตร์  ไมโครฟิล์ม  แผ่นเสียง  แถบบันทึกเสียง  ลูกโลก  ของจริง  เป็นต้น
วัสดุตีพิมพ์  (Printed  Materials)   วัสดุตีพิมพ์เป็นวัสดุสารนิเทศประเภทแผ่นกระดาษ  ที่ใช้สำหรับการบันทึกข้อมูล  ข่าวสารและความรู้ต่าง ๆ   ซึ่งประกอบด้วย
1. หนังสือ  (Book)  แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
     1.1   หนังสือสารคดี  (Non-Fiction  Books)  ประกอบด้วย
                   1.1.1  หนังสือตำราวิชาการหรือแบบเรียน (Textbooks) เป็นหนังสือที่ใช้สำหรับการเรียนการสอน  ตามรายละเอียดเนื้อหาวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตร
                   1.1.2  หนังสืออ่านประกอบ  (External  Readings)  เป็นหนังสือที่ใช้อ่านประกอบในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ที่กว้างขวางขึ้น
                   1.1.3  หนังสือความรู้ทั่วไป  (General  Readings)  เป็นหนังสือที่นำเสนอเรื่องราว
ทั่ว ๆ ไปหรือเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  สำหรับผู้ที่สนใจอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้        
                   1.1.4  หนังสืออ้างอิง  (Reference  Books)  เป็นหนังสือที่เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิสาขาใดสาขาหนึ่ง  เพื่อให้ผู้ใช้ได้ศึกษาค้นคว้าหาคำตอบที่ต้องการโดยไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งเล่มหรือทั้งชุด  เช่นหนังสือสารานุกรม  พจนานุกรม  หนังสือรายปี  เป็นต้น
                   1.1.5  ปริญญานิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์  (Thesis  or  Dissertations)  เป็นหนังสือสาขาวิชาต่าง ๆ ที่นิสิตนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา  (ปริญญาโทขึ้นไป)  เรียบเรียงขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตร
                   1.1.6  หนังสือคู่มือครู  หลักสูตร  โครงการสอน แผนการสอน  และคู่มือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ  เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเฉพาะ  จะจัดแยกจากหนังสือประเภทอื่น ๆ
               1.2  หนังสือบันเทิงคดี  (Fictions)  เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อความบันเทิงแก่ผู้อ่าน  ซึ่งอาจจะสอดแทรกความรู้และข้อคิดต่างๆ  ไว้ด้วย  หนังสือประเภทนี้ผู้เขียน  เขียนขึ้นจากแนวคิด  ประสบการณ์  ตลอดจนจินตนาการของตนเอง  แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
                   1.2.1  หนังสือนวนิยาย  (Fictions) เป็นหนังสือที่มีกลวิธีในการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ  และผูกเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง  เนื้อเรื่องยาวจะแบ่งออกเป็นตอน ๆ บางเรื่องอาจมีหลายเล่มจบหรือหลายภาค
                   1.2.2  หนังสือเรื่องสั้น  (Short  Story)  เป็นหนังสือที่จะมีลักษณะคล้ายกับ
นวนิยาย  แต่จะมีเนื้อเรื่องสั้น ๆ ตัวละครไม่มาก  มีจุดสำคัญ (ไคลแมกซ์) เพียงจุดเดียว
หนังสือเรื่องสั้นส่วนมากจะรวมหลายเรื่องเรียกว่ารวมเรื่องสั้น  (Short  Story  Collection)
                   1.2.3  หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน (Baby  Books)  เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นสำหรับเด็กและเยาวชน  ใช้ภาษาง่าย ๆ อาจสอดแทรกข้อคิด  หรือคำสั่งสอนต่าง ๆ ส่วนมากจะเป็นแนวคิด  หรือจินตนาการที่เหนือธรรมชาติ
2.  วารสาร  นิตยสาร และหนังสือพิมพ์  เป็นหนังสือประเภทสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง  ที่มีกำหนดออกตามวาระที่แน่นอน  เช่น  รายวัน  รายสัปดาห์  รายปักษ์  ฯลฯ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข่าวสาร  ความรู้ที่ทันสมัย  หรือความเคลื่อนไหวใหม่ ๆ สิ่งพิมพ์ประเภทนี้ประกอบด้วย
     2.1  วารสาร  (Periodicals  or  Journals)  เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีรายละเอียดเนื้อหาเน้นหนักทางด้านวิชาการ  และสาระความรู้ต่าง ๆ
     2.2  นิตยสาร  (Magazines)  เป็นสิ่งพิมพ์ต่อเนื่องประเภทหนึ่ง  ที่มีเนื้อหามุ่งเน้นทางด้านบันเทิง  และประเภทเกร็ดความรู้
                   2.3  หนังสือพิมพ์  (Newspapers) เป็นสิ่งพิมพ์ที่มุ่งเน้นในเรื่องการนำเสนอข่าวสาร  ความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  โดยส่วนใหญ่จะมีกำหนดออกเป็นรายวัน  บางฉบับอาจเป็นรายสัปดาห์  หนังสือพิมพ์นอกจากจะเสนอข่าวสารต่าง ๆ แล้ว  ยังนำเสนอบทความ  บทวิเคราะห์วิจารณ์ สาระความรู้  และความบันเทิงที่ทันสมัยอีกด้วย
             3. จุลสาร  (Phamphlets)  เป็นสิ่งพิมพ์ที่รูปเล่มกะทัดรัด  ส่วนใหญ่จะมีความหนาไม่เกิน  60  หน้า  จัดพิมพ์ขึ้นโดย  หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อมุ่งเสนอความรู้เฉพาะเรื่องหรือ  สาขาวิชาต่าง ๆ
          4.  กฤตภาค  (Clippings)  หมายถึงข่าวสาร  ความรู้  รูปภาพ  หรือบทความต่าง ๆ ที่ตัดจากหนังสือพิมพ์  หรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ แล้วนำมาผนึกไว้บนกระดาษโดยระบุแหล่งที่มาของสารนั้น
แล้วจัดเก็บรวบรวมไว้ที่แฟ้ม  หรือวัสดุอื่น ๆ ที่เหมาะสมแก่การจัดเก็บและการใช้บริการ

วัสดุไม่ตีพิมพ์  (Nonprint  Materials)  วัสดุไม่ตีพิมพ์  เป็นวัสดุสารนิเทศรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ได้หมายถึงวัสดุประเภทเอกสารสิ่งพิมพ์  แต่ใช้สำหรับการบันทึกข้อมูล  ข่าวสาร  ความรู้ต่าง ๆ    วัสดุประเภทนี้ประกอบด้วย
1.  โสตทัศนวัสดุ  (Audio  Visual  Materials)  เป็นสื่อที่ให้ข้อมูล  ความรู้  ข่าวสาร  แก่ผู้ใช้โดยผ่านประสาทสัมผัสทางหู  ทางตา  ได้แก่
     1.1  แผ่นเสียง  (Phonodiscs)  และเทปบันทึกเสียง  (Phonotapes)  เป็นวัสดุที่ให้ข่าวสาร  ความรู้  และความบันเทิงต่าง ๆ ในรูปของเสียง  เช่น  บทเพลง  สุนทรพจน์  ปาฐกถา  คำบรรยายเนื้อหารายวิชาต่าง ๆ ฯลฯ
     1.2  ภาพยนตร์  (Motion  pictures  or  Films)  เป็นสื่อที่ให้ความรู้ข่าวสาร  ตลอดจน
ความบันเทิง
  ทั้งภาพและเสียง  ทำให้การเสนอเรื่องราวน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
     1.3  เทปวีดิทัศน์และแผ่นวีดิทัศน์ (Videotapes  and  Videodiscs)  เป็นสื่อที่ให้ความรู้และความบันเทิง  โดยใช้ภาพและเสียง
     1.4  รูปภาพ  (Pictures)  เป็นการนำเสนอข้อมูลเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยใช้รูปภาพ  ซึ่งอาจเป็นภาพวาด  ภาพเขียน  ภาพถ่ายหรือภาพพิมพ์ก็ได้
     1.5  แผนที่และลูกโลก  (Maps  and  Globes)  เป็นวัสดุสารนิเทศที่นำเสนอข้อมูลความรู้โดยการแสดงเขตพื้นที่  หรือพื้นผิวโลกในด้านกายภาพ เช่น การแสดงเขตการปกครอง
เศรษฐกิจ  ฯลฯ
     1.6  ภาพเลื่อน  และภาพนิ่ง  (Filmstrips  and  Slides)  เป็นสื่อที่นำเสนอข้อมูลประเภทภาพโปร่งแสงถ่ายบนฟิล์ม  ลักษณะของภาพนิ่งจะปรากฏที่ละภาพ  ส่วนภาพเลื่อนจะเป็นภาพต่อเนื่อง
    1.7  แผนภูมิ  (Charts)  เป็นสื่อที่นำเสนอข้อมูลประเภทสัญลักษณ์  ตัวเลข  ตัวหนังสือ  และลายเส้น  ที่แสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเรื่องต่าง ๆ แผนภูมิมีหลายประเภท  ได้แก่  แผนภูมิภาพ  แผนภูมิตาราง  แผนภูมิแท่ง  ฯลฯ
    1.8  แผ่นโปร่งใส  (Transparencies)  เป็นสื่อที่นำเสนอข้อมูลลงบนแผ่นพลาสติกใส  เวลาใช้จะต้องใช้ประกอบกับเครื่องฉายภาพข้ามศรีษะ (Overhead  Projectors)
     1.9  หุ่นจำลอง  (Models)วัสดุที่ทำจำลองขึ้นแทนของจริง  อาจมีขนาดเท่าเดิมหรือย่อให้มีขนาดเล็กลงหรือขยายใหญ่กว่าของจริงก็ได้
     1.10  ของจริงและของตัวอย่าง  (Reals and Specimens)  เป็นสื่อที่นำเสนอข้อมูลตามสภาพจริง  หรือตามธรรมชาติของสิ่งนั้น ๆ สำหรับของตัวอย่าง  หมายถึง  การนำของจริงมาเป็นเพียงตัวอย่าง  เช่น  แสตมป์  เหรียญโบราณ  แมลงต่าง ๆ ฯลฯ
2. วัสดุย่อส่วน  (Microforms)  คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษ์และสารนิเทศศาสตร์  (2543 :12) ได้กล่าวถึงวัสดุย่อส่วนว่า  เป็นวัสดุที่จัดเก็บข้อมูลโดยถ่ายภาพสิ่งพิมพ์ต้นฉบับ 
ย่อส่วนให้มีขนาดเล็ก  เพราะจะทำให้จัดเก็บได้มาก  แต่เมื่อจะใช้ข้อมูลจะต้องใช้เครื่องอ่านประกอบ  วัสดุย่อส่วนแบ่งออกได้   ดังนี้
     2.1  ไมโครฟิล์ม  (Microfilms)  เป็นการถ่ายข้อความรู้  ข่าวสารจากเอกสารสิ่งพิมพ์ 
ลงบนม้วนฟิล์มขนาด  16  มม.  หรือ  35  มม.  แล้วเก็บรวบรวมม้วนฟิล์มไว้เมื่อจะใช้ต้องอ่านด้วยเครื่องอ่านไมโครฟิล์ม
     2.2  ไมโครฟิช  (Microfiches)  เป็นการถ่ายข้อความรู้  ข่าวสาร  จากเอกสารสิ่งพิมพ์
ลงบนแผ่นฟิล์มโปร่งแสงขนาด  3x5  นิ้ว  4x6  นิ้ว  หรือ  5x8  นิ้ว  แล้วอ่านด้วยเครื่องไมโครฟิช
3.วัสดุอิเล็กทรอนิกส์  (Electronic  Materials)  เป็นวัสดุที่จัดเก็บสารนิเทศในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์  ต้องมีเครื่องแปลงสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์  ให้เป็นสัญญาณภาพและเสียง  วัสดุอิเล็กทรอนิกส์  แบ่งออกได้  ดังนี้
3.1 ซีดีรอม  (CD-ROM = Compact  Dise  Read  Only  Memory)
 3.2  แผ่นวีดิทัศน์ระบบดิจิตอล  (DVD = Digital  Versatile  Dise)
 3.3  หนังสืออิเล็กทรอนิกส์  (Electronic  books  หรือ  E-books)
 3.4  วารสารอิเล็กทรอนิกส์  (Electronic  journals  หรือ  E-Journals)
 3.5  หนังสือพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์  (Electronic  newspapers หรือ E-newspapers)
 3.6  ฐานข้อมูล (Database)
3.7  ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Mail หรือ  E-Mail )
3.8  เคเบิลทีวี  (Cable  Television  )


ระเบียบและมารยาทในการเข้าใช้ห้องสมุด


เรื่องระเบียบและมารยาทการใช้ห้องสมุด        วิชาห้องสมุดและการศึกษาค้นคว้า          

 ระเบียบการยืม  - คืนหนังสือ
          1.  แสดงบัตรสมาชิกทุกครั้งที่ยืม-คืนหนังสือ
          2.  วัสดุสารนิเทศที่ยืมได้  หนังสือค้นคว้าทั่วไป  นวนิยาย  เรื่องสั้น  คู่มือเตรียมสอบ 
หนังสือจอง
          3.  วัสดุสารนิเทศที่ไม่อนุญาตให้ยืม  คือ  หนังสืออ้างอิง  หนังสือพิมพ์ใหม่  วารสารใหม่
          4.  ยืมครั้งละ  3  เล่ม  เป็นเวลา  7 วัน
          5.  เกินกำหนดส่ง  ปรับวันละ  1 บาท/ เล่ม
          6.  หนังสือจองยืมได้  1 เล่ม/  1  วัน
          7.  หนังสือหาย  ชำรุดต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน  2 เท่าของราคาหนังสือ

มารยาทในการเข้าใช้ห้องสมุด

          1.  ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น
          2.  ไม่นำกระเป๋า  หนังสืออื่นเข้าห้องสมุดก่อนได้รับอนุญาต
          3.  ไม่ควรหยิบหนังสือ  วารสาร  หรือหนังสือพิมพ์ที่ละหลายเล่ม
          4.   ไม่รื้อ  ค้นหนังสือให้กระจุยกระจาย
          5.   เมื่อต้องการข้อมูลจากหนังสือให้นำไปถ่ายสำเนาที่ห้องสมุดจัดไว้
          6.  เมื่อลุกจากที่ควรเลื่อนเก้าอี้เข้าชิดโต๊ะทุกครั้ง
          7.   ไม่นำอาหาร  น้ำดื่ม  ของขบเคี้ยวเข้าไปรับประทานในห้องสมุด
          8.  เมื่ออ่านหนังสือเสร็จควรเก็บหนังสือในที่ห้องสมุดจัดให้  ไม่ควรวางหนังสือไว้บนโต๊ะนั่งอ่านหนังสือ
          9.  แต่งกายสุภาพ  เรียบร้อย
          10.  หากมีปัญหาในการค้นหาหนังสือโปรดสอบถามเจ้าหน้าที่หรือบรรณารักษ์ห้องสมุด