วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ทรัพยากรสารสนเทศ

                                                   ทรัพยากรสารสนเทศ

ความหมายของทรัพยากรสารสนเทศ
        ทรัพยากรสารสนเทศ  คือ  วัสดุที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าและวิจัยในรูปแบบต่าง ๆ ทุกสาขาวิชา

ประโยชน์ของทรัพยากรสารสนเทศ
        1.  ให้ความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ
        2.  เป็นหลักฐานอ้างอิงประกอบการค้นคว้า
        3.  เสริมสร้างสติปัญญาทำให้มีความคิดสร้างสรรค์และวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทันโลก ทันเหตุการณ์ และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ
        4.  สามารถนำความรู้ที่ได้จากทรัพยากรสารสนเทศ  มาพัฒนาตนเอง  ในด้านต่าง ๆ ทำให้ ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเภทและลักษณะของทรัพยากรสารสนเทศ
        ทรัพยากรสารสนเทศแบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ
             1)  วัสดุตีพิมพ์ 
             2)  วัสดุไม่ตีพิมพ์  หรือโสตทัศนวัสดุ 
        1. วัสดุตีพิมพ์  คือ  สิ่งพิมพ์ที่มีการบันทึกความรู้  ความคิดของมนุษย์นำมารวบรวมเป็นเล่ม  ให้ผู้อ่านได้ศึกษาค้นคว้าและใช้อ้างอิง  แบ่งตามลักษณะเนื้อหาได้  ดังนี้
             1.1  หนังสือ  แบ่งออกเป็น  2  ประเภทคือ
                    1.1.1  หนังสือสารคดี  คือ  หนังสือที่มุ่งให้ความรู้แก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ  ได้แก่ 

                               1) ตำราวิชาการ  คือ  หนังสือที่เขียนขึ้นตามหลักสูตรในสถาบันการศึกษา ระดับต่าง ๆ ใช้ประกอบการเรียนการสอน  เช่น  แบบเรียนวิชาต่าง ๆ

                               2)   หนังสืออ่านประกอบ  คือ  หนังสือที่เขียนขึ้น  เพื่อใช้อ่านประกอบ ในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ให้ได้ความรู้ละเอียดลึกซึ้ง  เช่น  หนังสืออ่านประกอบระดับมัธยมศึกษาที่จัดพิมพ์ และเผยแพร่โดยกรมวิชาการ  เป็นต้น

                               3)  หนังสือความรู้ทั่วไป  คือ  หนังสือที่ผู้เขียนต่าง ๆ เรียบเรียงขึ้นตาม ความสนใจของผู้เขียน  เช่น  ความรู้รอบตัว เป็นต้น

                               4)  หนังสืออ้างอิง  คือ หนังสือที่มีลักษณะรวบรวมความรู้ไว้หลากหลายเพื่อใช้ ค้นหาคำตอบเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยไม่ต้องอ่านทั้งเล่ม เรียบเรียงตามลำดับอักษรของเรื่อง หรือเนื้อหา ที่ต้องการค้น เช่น พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน  และพจนานุกรมไทย-อังกฤษ  สารานุกรมวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

                               5)  ปริญญานิพนธ์  หรือวิทยานิพนธ์  คือ บทนิพนธ์ที่เรียบเรียงขึ้น เพื่อประกอบการศึกษาระดับบัณฑิต

                               6)  สิ่งพิมพ์รัฐบาล คือ หนังสือที่ผลิตโดยหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ เช่น หนังสือรายงานประจำปี  ราชกิจจานุเบกษา  และหนังสือรายปี  เป็นต้น

                    1.1.2  หนังสือบันเทิงคดี คือ หนังสือที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์และจินตนาการ มุ่งให้ความบันเทิงเป็นสำคัญ เช่น หนังสือนวนิยาย  หนังสือรวมเรื่องสั้น  หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน เป็นต้น

             1.2  สิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง  คือ  สิ่งพิมพ์ที่ออกต่อเนื่องกันตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้  ได้แก่
                    1.2.1  หนังสือพิมพ์รายวัน คือ สิ่งพิมพ์ที่กำหนดออกเป็นประจำทุกวัน เพื่อนำเสนอข่าว และเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวใหม่ ๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  เช่น ข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจและสังคม  ข่าวการศึกษา  ข่าวกีฬา  ข่าวธุรกิจ  ข่าวบันเทิง บทความทางวิชาการ และ สาระน่ารู้   เป็นต้น

                    1.2.2  วารสารและนิตยสาร  คือ สิ่งพิมพ์ที่กำหนดออกตามเวลาที่กำหนด  ได้แก่
                              1) วารสารรายสัปดาห์  มีกำหนดออกสัปดาห์ละ  1  ฉบับ
                              2) วารสารรายปักษ์  มีกำหนดออก  2  สัปดาห์  1  ฉบับ 
                              3) วารสารรายเดือน  มีกำหนดออกเดือนละ  1  ฉบับ
                              4) วารสารราย 3  เดือน มีกำหนดออก 3  เดือน  1  ฉบับ เนื้อหาในวารสารจะ เน้นหนักทางวิชาการ ส่วนเนื้อหาในนิตยสารจะเน้นบันเทิง
                    1.2.3  จุลสาร คือ สิ่งพิมพ์ขนาดเล็ก  อาจเป็นกระดาษแผ่นเดียวพับไปพับมา หรือ เป็นเล่มบาง ๆ มีความหนาไม่เกิน 60  หน้า  ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น  โรคต่าง ๆ วิธีดูแลรักษา  และการปลูกพืชต่าง ๆ ให้ข้อมูลที่ทันสมัย  เขียนง่าย ๆ จัดพิมพ์ หรือออกโดยหน่วยงานรัฐ หรือเอกชน เพื่อเผยแพร่ความรู้โดยการแจกจ่ายให้กับประชาชน ห้องสมุด  และหน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น

                    1.2.4  กฤตภาค   คือ  ทรัพยากรสารสนเทศที่ห้องสมุดจัดทำขึ้นโดยตัดบทความ ข่าว  และสาระน่ารู้ จากวารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับล่วงเวลาที่มีประโยชน์ต่อผู้ใช้ แล้วนำมาผนึกบนกระดาษ  บอกแหล่งที่มาบนกระดาษ ให้หัวเรื่อง และนำไปจัดเรียงเข้าแฟ้มตามลำดับอักษรของหัวเรื่อง เพื่อใช้ ค้นคว้าต่อไป

        2. วัสดุไม่ตีพิมพ์  หรือโสตทัศนวัสดุ  คือ  วัสดุที่ให้ความรู้ความคิดผ่านทางตา ทางหู  ทำให้เกิด ความเข้าใจในการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น  แบ่งออกเป็นประเภทได้  ดังนี้
             2.1  โสตวัสดุ  คือ  ทรัพยากรสารสนเทศที่ใช้เสียงเป็นสื่อในการถ่ายทอดสารสนเทศ  ได้แก่  แผ่นเสียง  แถบบันทึกเสียง  หรือเทปบันทึกเสียง   แผ่นดิสก์  เป็นต้น

             2.2  ทัศนวัสดุ  คือ ทรัพยากรสารสนเทศที่ผู้รับต้องใช้สายตารับรู้ อาจดูด้วยตาเปล่า หรือใช้เครื่องฉายช่วยขยายภาพ  เช่น   รูปภาพ  แผนที่  แผนภูมิ  วัสดุกราฟิก  หรือวัสดุลายเส้น ภาพเลื่อน  หรือฟิล์มสตริป  ภาพนิ่ง  หรือ แผ่นชุดการสอน ลูกโลก  หุ่นจำลอง  เกม  และของจริง  เป็นต้น

             2.3  โสตทัศนวัสดุ  คือ วัสดุสารสนเทศที่มีทั้งภาพและเสียง ได้แก่  เครื่องฉายภาพยนตร์สไลด์ ประกอบเสียง  หรือสไลด์มัลติวิชั่น  เป็นต้น

             2.4  วัสดุย่อส่วน  คือ  วัสดุที่ได้จากการถ่ายภาพสิ่งพิมพ์ต้นฉบับ  ย่อส่วนลงบนฟิล์มกระดาษ ทึบแสงให้มีขนาดเล็กโดยใช้เครื่องช่วยอ่าน  เพื่อประหยัดงบประมาณและเนื้อที่ในการจัดเก็บ  ได้แก่  ไมโครฟิล์ม ไมโครฟิช  ไมโครการ์ด  ไมโครพรินท์

             2.5. วัสดุอิเล็กทรอนิกส์  คือ ทรัพยากรสารสนเทศ ที่มีการแปลงสารสนเทศเป็นสัญญาณ อิเล็กทรอนิกส์กลับคืนเป็นภาพ หรือเสียง ได้แก่  วิดีทัศน์  ซีดี-รอม

วิธีเลือกใช้วัสดุตีพิมพ์
        การเลือกใช้วัสดุตีพิมพ์เป็นความจำเป็นที่นักเรียนจะต้องพิจารณาว่า วัสดุตีพิมพ์ประเภทใด เหมาะสำหรับใช้ประกอบการเรียนรู้ในสถานที่ใด  เวลาใด  อย่างไร  สถานการณ์ไหน  เพื่อให้ตรงตาม วัตถุประสงค์  และใช้ได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ  คุ้มค่าแก่เวลา
        1.  หนังสือ  สามารถเลือกใช้ได้ตามวัตถุประสงค์  ดังนี้
             1.1  หนังสือสารคดี 
                    1.1.1  ตำราวิชาการ  อ่านประกอบการเรียนซึ่งเป็นแบบเรียนของวิชาต่าง ๆ
                    1.1.2  หนังสืออ่านประกอบ อ่านประกอบเนื้อหาของวิชาต่าง ๆ ให้ได้ความรู้ ละเอียดลึกซึ้งขึ้น
                    1.1.3  หนังสือความรู้ทั่วไป อ่านเพื่อค้นคว้าเพิ่มเติมตามหัวข้อที่ต้องการโดยดูจากสารบัญ  หรืออ่านตามความสนใจ
                    1.1.4  หนังสืออ้างอิง  อ่านเพื่อการค้นหาคำตอบเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือเนื้อหาที่ต้องการค้น
             1.2  หนังสือบันเทิงคดี  อ่านเพื่อความบันเทิงเป็นส่วนใหญ่  ได้แก่  นวนิยาย  หนังสือสำหรับ เด็ก รวมเรื่องสั้น
        2.  สิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง  สามารถเลือกใช้ได้ตามวัตถุประสงค์  ดังนี้
             2.1  หนังสือพิมพ์รายวัน  อ่านเพื่อทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน  และเหตุการณ์ใน ชีวิตประจำวัน  เช่น  คอลัมน์สมัครงาน  โฆษณา  ซื้อ  ขาย  แลกเปลี่ยนสินค้า   และตอบปัญหาสุขภาพ  เป็นต้น
             2.2  นิตยสารและวารสาร นิตยสารอ่านเพื่อความบันเทิง และวารสาร อ่านเพื่อประกอบ การค้นคว้าเรื่องราวที่ทันสมัยและเป็นปัจจุบัน  และยังไม่ตีพิมพ์เป็นหนังสือ  เช่น บทความทางวิชาการ เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ
             2.3  จุลสาร  อ่านเมื่อต้องการความรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ให้ข้อมูลที่ทันสมัย เขียนง่ายๆ   เช่น  โรคต่าง ๆ และวิธีดูแลรักษา  และการปลูกพืชต่าง ๆ เป็นต้น
             2.4  กฤตภาค  ใช้ในการค้นคว้าความรู้เรื่องต่าง ๆ เช่น  บทความ  ข่าว  และสาระน่ารู้


วิธีเลือกใช้วัสดุไม่ตีพิมพ์
        1.  โสตวัสดุ  ใช้ในการฟังบรรยายจากวิทยากร  การสัมมนา  การสัมภาษณ์ผู้รู้ต่าง ๆ เช่น แถบบันทึกเสียง หรือเทปบันทึกเสียง   แผ่นดิสก์  แผ่นซีดี  เป็นต้น
        2.  ทัศนวัสดุ  ใช้ในการดูประกอบการค้นคว้าหรือการเรียนรู้  เช่น รูปภาพ แผนที่ แผนภูมิ  ภาพนิ่ง  เกม  ชุดการเรียน  ของจริง  เป็นต้น
        3.  โสตทัศนวัสดุ ใช้ในการดูและฟังประกอบการค้นคว้าหรือการเรียนรู้ เช่น  ภาพยนตร์และ ภาพนิ่งประกอบเสียง  เป็นต้น
        4.  วัสดุย่อส่วน  ใช้ในการค้นคว้าความรู้เรื่องต่าง ๆ  เช่น  ไมโครฟิล์ม  เป็นต้น
        5.  วัสดุอิเล็กทรอนิกส์  ใช้ในการดูและฟังประกอบการค้นคว้าหรือการเรียนรู้  เช่น วิดีทัศน์ และซีดี-รอม  เป็นต้น


ขอขอบคุณ   http://www.bangkapi.ac.th/MediaOnLine/weerawanWMD/unit2_part3.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น