วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ห้องสมุด

ความหมายของห้องสมุด
          ห้องสมุด คือแหล่งรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภท ทั้งที่เป็นวัสดุตีพิมพ์ วัสดุไม่ตีพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีการคัดเลือกและจัดหาเข้ามาอย่างทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของผู้ใช้ มีบรรณารักษ์เป็นผู้ดำเนินงานและจัดบริการต่างๆอย่างเป็นระบบ
ความสำคัญของห้องสมุด
          การศึกษาในปัจจุบัน มุ่งให้ผู้เรียนมีโอกาสค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ มาประกอบความรู้ที่ได้รับจากการเรียนในชั้น ผู้เรียนจะต้องหาความรู้เพิ่มเติมโดยการเข้าใช้ห้องสมุด เพื่อค้นคว้าหาความรู้เพิ่มขึ้น ความสำคัญของห้องสมุดอาจประมวลได้ ดังนี้
          1. ห้องสมุดเป็นที่รวมของทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ ที่ผู้ใช้สามารถค้นคว้าหาความรู้ทุกสาขาวิชา ที่มีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษานั้น
          2. ห้องสมุดเป็นที่ที่ทุกคนจะเลือกอ่านหนังสือ และค้นคว้าหาความรู้ต่างๆได้โดยอิสระ ตามความสนใจของแต่ละบุคคล
          3. ห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดพอใจที่จะอ่านหนังสือต่างๆโดยไม่รู้จักจบสิ้น เป็นการช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน
          4. ช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีความรู้ทันสมัยอยู่เสมอ
          5. ช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดมีนิสัยรักการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
          6. ช่วยให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
          7. ห้องสมุดจะช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดรับรู้ในสมบัติสาธารณะ รู้จักใช้และระวังรักษาอย่างถูกต้อง
วัตถุประสงค์ของห้องสมุด
          ห้องสมุดทั่วไปมีวัตถุประสงค์ 5 ประการ ดังนี้
          1. เพื่อการศึกษา ห้องสมุดทุกแห่งจะรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศที่ให้ความรู้ เพื่อบริการแก่ผู้ใช้ในการแสวงหาความรู้ ค้นคว้าด้วยตนเองได้ตามต้องการ
          2. เพื่อความรู้ข่าวสาร ห้องสมุดจัดหาทรัพยากรสารสนเทศใหม่ๆ ที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ใช้ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้ใช้มีความรู้ใหม่ๆและทันสมัยเสมอ
          3. เพื่อการค้นคว้าวิจัย เป็นแหล่งสะสมทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่างๆ ที่ใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาค้นคว้าวิจัย ซึ่งเป็นการแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อความเจริญก้าวหน้าในสาขาวิชาต่างๆ
          4. เพื่อความจรรโลงใจ ทรัพยากรสารสนเทศบางประเภททำให้ผู้ใช้มีความซาบซึ้งประทับใจที่ได้รับจากการอ่าน ช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจในทางสร้างสรรค์แต่สิ่งที่ดีงาม และเป็นประโยชน์ต่อสังคม
          5. เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจหรือนันทนาการ ห้องสมุดจะมีทรัพยากรสารสนเทศที่ให้ความสนุก บันเทิงใจไว้บริการ เช่น นิตยสาร นวนิยาย เรื่องสั้น ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้ได้รับความเพลิดเพลิน
ประโยชน์ของห้องสมุด
           ห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศที่หลากหลายและมีประโยชน์ ดังนี้
          1. ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
          2. กระตุ้นให้รักการอ่านและการศึกษาค้นคว้า
          3. ก่อให้เกิดการศึกษาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
          4. เป็นสื่อกลางในกระบวนการเรียนการสอน
          5. ตอบสนองความต้องการในการแสวงหาความรู้เฉพาะบุคคล
ประเภทของห้องสมุด
          การแบ่งประเภทของห้องสมุด ตามลักษณะและวัตถุประสงค์ที่ให้บริการ จำแนกได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้
      

1. ห้องสมุดโรงเรียน เป็นห้องสมุดที่ตั้งขึ้นในโรงเรียนทั้งในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนตามหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อสนองความต้องการของนักเรียน ครู ผู้ปกครองและชุมชน นอกจากนี้ยังช่วยสร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน และการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองให้แก่นักเรียน เพื่อเป็นรากฐานในการใช้ห้องสมุดอื่นๆต่อไป
          



2. ห้องสมุดมหาวิทยาลัย เป็นห้องสมุดของสถาบันอุดมศึกษา ให้บริการทางวิชาการแก่นิสิต นักศึกษา และอาจารย์ เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัย ทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภทที่รวบรวมไว้ในห้องสมุดมหาวิทยาลัย มีความทันสมัยและสอดคล้องกับหลักสูตรการสอน การวิจัยและกิจกรรมต่างๆ ของแต่ละสถาบัน



3. ห้องสมุดเฉพาะ เป็นห้องสมุดของหน่วยงานราชการ บริษัท สมาคม ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศต่างๆ เป็นแหล่งเก็บรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศ ที่มีเนื้อหาเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง และสาขาวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นบุคลากรที่สังกัดหน่วยงานนั้น เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
          

4. ห้องสมุดประชาชน เป็นห้องสมุดที่ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศแก่ประชาชนในท้องถิ่นโดยไม่จำกัดวัย ระดับความรู้ เชื้อชาติและศาสนา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนแต่ละแห่ง เป็นการส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองตลอดชีวิตของประชาชนในชุมชน

          5. หอสมุดแห่งชาติ เป็นแหล่งรวบรวมและเก็บรักษาสิ่งพิมพ์ ที่พิมพ์ขึ้นภายในประเทศไว้อย่างสมบูรณ์ และอนุรักษ์ให้คงทนถาวร เพื่อให้บริการศึกษาค้นคว้าแก่ประชาชนทั่วไป หอสมุดแห่งชาติจะต้องได้รับสิ่งพิมพ์ทุกเล่ม ที่พิมพ์ขึ้นภายในประเทศตามพระราชบัญญัติการพิมพ์


   ระเบียบของห้องสมุด มีข้อกำหนด ดังนี้
เวลาทำการ  
          วันจันทร์ - วันศุกร์   เวลา 07.30 น.- 16.30 น.


ผู้มีสิทธิ์ใช้บริการห้องสมุด
1. นักเรียน
2. ครู - อาจารย์
3. เจ้าหน้าที่ นักการภารโรง
4. ผู้ปกครองและชุมชน

ระเบียบการยืม - คืน

     1. เวลาให้บริการยืม - คืน
           เช้า          07.00 - 07.30 น.
           กลางวัน   10.50 - 12.30 น.
           เย็น          15.00 - 16.30 น.
     2. นักเรียนต้องใช้บัตรประจำตัวนักเรียนในการยืม - คืน หนังสือ และยืมด้วยบัตรของตนเองทุกครั้ง
     3. หนังสือที่ยืมได้ ได้แก่ หนังสือทั่วไป หนังสือคู่มือ นวนิยาย เรื่องสั้น และหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน
     4. การยืมหนังสือ ยืมได้ครั้งละ 3 เล่ม และต้องเป็นหนังสือไม่ซ้ำกัน ยืมได้นาน 7 วัน
     5. วารสาร หนังสือพิมพ์ไม่อนุญาติให้ยืมออกนอกห้องสมุด
     6. หนังสืออ้างอิง ห้ามยืมออกนอกห้องสมุด กรณีที่จะนำไปถ่ายเอกสารต้องติดต่อบรรณารักษ์ หรือเจ้าหน้าที่ห้องสมุดก่อน ยืมได้ครั้งละ 1 เล่ม และส่งคืนภายในวันที่ยืมก่อนห้องสมุดปิดทำการ

ความรับผิดชอบของผู้ยืม
     1. นักเรียนจะต้องส่งทรัพยากรสารสนเทศคืนตามกำหนดส่ง   ถ้าหากส่งเกินกำหนดจะต้องจ่ายค่าปรับวันละ 1 บาท ต่อ 1 เล่ม
     2. ผู้ที่ทำหนังสือหายต้องซื้อหนังสือเรื่องเดิมมาคืนห้องสมุด หรือซื้อหนังสือชดใช้เท่ากับราคาหนังสือ
     3. ผู้ที่ไม่คืนหนังสือจะมีใบทวงแจ้งครูที่ปรึกษา และถ้ายังไม่ได้รับการติดต่อกลับจะไม่มีสิทธิ์ยืมหนังสือได้อีกจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบ
     4. นักเรียนที่ค้างส่งหนังสือห้องสมุด และกำลังจะจบการศึกษา จะถูกอายัดผลการเรียนจากงานทะเบียนวัดผล จนกว่าจะนำหนังสือมาคืนห้องสมุด

 งานบริการห้องสมุด
ความหมายของงานบริการห้องสมุด   
           งานบริการห้องสมุด คืองานที่ห้องสมุดจัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ในด้านการอ่าน การค้นคว้าหาความรู้และส่งเสริมการอ่านให้กว้างขวางและทั่วถึง เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับสารสนเทศอย่างรวดเร็ว และตรงตามความต้องการมากที่สุด รวมถึงการจัดบรรยากาศที่ดี เป็นระเบียบ ทำให้ผู้ใช้เกิดความรู้สึกที่ดีและประทับใจเมื่อเข้าใช้บริการ
ความสำคัญของงานบริการห้องสมุด
          งานบริการเป็นหัวใจสำคัญของห้องสมุด เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ทุกระดับ สำหรับงานบริการของห้องสมุดโรงเรียน มีส่วนสำคัญที่ทำให้นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน มาใช้ห้องสมุดมากขึ้น งานบริการเป็นงานที่ห้องสมุดทำขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนการสอน ให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ รู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ใช้ประโยชน์จากการอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ตลอดจนนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
วัตถุประสงค์ของการให้บริการห้องสมุด
          1. เพื่อส่งเสริมการอ่าน
          2. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ห้องสมุด
          3. เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่และคุ้มค่า
          4. เพื่อให้เกิดความรู้ ความเพลิดเพลิน พัฒนาสมองให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถนำสิ่งที่ได้จากการอ่านไปปฏิบัติ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตนต้องการ
ประเภทของงานบริการห้องสมุด
          งานบริการของห้องสมุดมีหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับนโยบายและวัตถุประสงค์ของห้องสมุด สำหรับห้องสมุดโรงเรียนโดยทั่วไป มีดังนี
         1. บริการการอ่าน   เป็นบริการหลักของห้องสมุดที่จัดหาและคัดเลือกหนังสือ สิ่งพิมพ์ต่างๆ มาไว้เพื่อให้บริการ และจัดเตรียมสถานที่ให้อำนวยความสะดวกต่อการอ่าน เพื่อตอบสนองความต้องการ และความสนใจของผู้ใช้มากที่สุด        
         2.บริการยืม - คืน   คือบริการให้ยืม - คืนทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่างๆ ตามระเบียบการยืมของห้องสมุดแต่ละแห่ง เพื่อให้ความสะดวกในการใช้ ในกรณีที่ยืมเกินกำหนด ผู้ยืมจะต้องเสียค่าปรับตามอัตราที่ห้องสมุดกำหนด        
         3.บริการหนังสือจอง   เป็นบริการที่ห้องสมุดจัดแยกหนังสือรายวิชาต่าง ๆ ที่ครูผู้สอนกำหนดให้นักเรียนอ่านประกอบ รวมทั้งเป็นบริการพิเศษที่จัดขึ้นในกรณีที่หนังสือนั้นมีจำนวนน้อย แต่มีผู้ใช้ต้องการจำนวนมาก โดยแยกไว้ต่างหาก และมีกำหนดระยะเวลาให้ยืมสั้นกว่าหนังสือทั่วไป        
         4.บริการแนะนำการใช้ห้องสมุด   เป็นบริการเพื่อแนะนำผู้ใช้ให้ทราบว่า ห้องสมุดจัดบริการอะไรบ้างให้กับผู้ใช้ เช่น การปฐมนิเทศแนะนำแก่นักเรียนที่เข้าเรียนในชั้นปีแรก ห้องสมุดส่วนใหญ่จะจัดทำคู่มือการใช้ห้องสมุด เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับห้องสมุด เช่น ประวัติของห้องสมุด ระเบียบการยืม - คืนทรัพยากรสารสนเทศ มารยาทในการใช้ห้องสมุด บริการและกิจกรรมต่างๆของห้องสมุด เป็นต้น        
         5. บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า   เป็นบริการที่ครูบรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่ห้องสมุด จะช่วยให้คำแนะนำและบริการตอบคำถามแก่นักเรียนและผู้ใช้ ทั้งคำถามทั่วไปเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุด และคำถามที่ต้องค้นหาคำตอบจากทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ ในห้องสมุด        
         6. บริการแนะแนวการอ่าน  เป็นบริการสำคัญที่ห้องสมุดจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการอ่าน พัฒนานิสัยรักการอ่าน และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยเหลือผู้ใช้ห้องสมุดที่มีปัญหาในการอ่าน ผู้ที่ไม่อยากอ่านหนังสือ หรือเลือกหนังสืออ่านไม่เหมาะสมกับความต้องการของตน        
         7. บริการสอนการใช้ห้องสมุด  เป็นบริการของห้องสมุดในโรงเรียนที่จัดสอนให้แก่นักเรียนที่เข้าเรียนใหม่ในชั้นปีแรก เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ห้องสมุด การเลือกใช้ทรัพยากรสารสนเทศแต่ละประเภท และบริการต่างๆ ของห้องสมุด ให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากห้องสมุดได้อย่างเต็มที่        
         8. บริการสืบค้นฐานข้อมูล  เป็นบริการสืบค้นฐานข้อมูลหนังสือของห้องสมุดช่วยให้ผู้ใช้ สามารถค้นหาหนังสือด้วยตนเองได้สะดวก รวดเร็วขึ้นความหมายของกิจกรรมห้องสมุด   
       กิจกรรมห้องสมุด  คือ งานที่ห้องสมุดจัดขึ้นเป็นครั้งคราว หรือในโอกาสต่างๆ เพื่อส่งเสริมการอ่านหนังสือ การศึกษาค้นคว้า และสนใจมาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น
ความสำคัญของกิจกรรมห้องสมุด
       
การจัดกิจกรรมห้องสมุดเป็นการประชาสัมพันธ์ห้องสมุด ทำให้ผู้ใช้ได้รู้จักห้องสมุด มีความกระตือรือร้นในการติดตามอ่านหนังสือหรือค้นคว้า มีส่วนช่วยเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ สามารถค้นคว้าหาข้อมูลมาจัดกิจกรรมต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมห้องสมุด
     1. เพื่อกระตุ้นความสนใจให้อ่านหนังสือ
     2. เพื่อจูงใจให้อ่านหนังสือ และเกิดนิสัยรักการอ่าน
     3. เปิดโอกาสให้นักเรียนทำงานร่วมกัน
     4. เพื่อเกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ
     5. เพื่อให้ผู้ใช้มาใช้บริการห้องสมุดเพิ่มขึ้น
ประเภทของกิจกรรมห้องสมุด
      กิจกรรมห้องสมุด จะจัดในโอกาสต่าง ๆ ดังนี้
      1. กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน   เป็นกิจกรรมที่จูงใจให้นักเรียนสนใจในการอ่าน และเกิดนิสัยรักการอ่าน ได้แก่
  • การเล่านิทาน
  • การเล่าเรื่องจากหนังสือ
  • การตอบปัญหาจากหนังสือ
  • การอภิปราย
  • การออกร้านหนังสือ
  • การแสดงละครหุ่นมือ
  • การโต้วาที
  • การประกวด
  • การแข่งขัน
  • การใช้เกมนำไปสู่การอ่าน
  • จัดแสดงหนังสือใหม่
     2. กิจกรรมส่งเสริมความรู้เรื่องห้องสมุด   เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักห้องสมุด ในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ได้แก่
  • การแนะนำการใช้ห้องสมุด
  • การปฐมนิเทศการใช้ห้องสมุด
  • การนำชมห้องสมุด
  • การอบรมยุวบรรณารักษ์
     3. กิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอน   เป็นกิจกรรมที่ห้องสมุดจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่
  • การจัดนิทรรศการ
  • การประกวดคำขวัญ
  • การประกวดเรียงความ
  • การตอบปัญหา
  • การประกวดวาดภาพ
  • บริการครูนำนักเรียนมาศึกษาค้นคว้าในชั่วโมงเรียน
     4. กิจกรรมส่งเสริมความรู้ทั่วไป   เป็นกิจกรรมที่ห้องสมุดจัดขึ้น เพื่อเสริมความรู้ให้แก่ผู้ใช้บริการ ได้แก่
  • จัดสัปดาห์ห้องสมุด
  • ป้ายนิเทศเสริมความรู้
  • การจัดนิทรรศการ
  • การฉายสื่อมัลติมีเดีย
  • การสาธิตภูมิปัญญาไทย
  • ตอบปัญหาสารานุกรมไทย
     5. กิจกรรมส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์   เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์จากการอ่าน ได้แก่
  • มุมรักการอ่าน
  • มุมหนังสือในห้องเรียน
  • ห้องสมุดเคลื่อนที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น