วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หนังสืออ้างอิง

หนังสืออ้างอิง
ความหมายและลักษณะของหนังสืออ้างอิงหนังสืออ้างอิง หมายถึง หนังสือที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ  เพื่อให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องอ่านตลอดเล่ม   ห้องสมุดมักจะจัดแยกหนังสืออ้างอิงไว้ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อสะดวกในการศึกษาค้นคว้า  โดยให้สัญลักษณ์ตัวอักษร อ. (ย่อมาจาก อ้างอิง) หรือ R (ย่อมาจาก Reference)  กำกับไว้ที่สันของหนังสือ
เครื่องมือช่วยค้นในหนังสืออ้างอิงหนังสืออ้างอิงนอกจากจะเรียบเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบแล้ว  ยังจัดทำเครื่องมือช่วยค้นเพื่อให้สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้รวดเร็ว  ได้แก่
1. สารบัญ  (content)   ทำหน้าที่ชี้บอกหัวข้อเรื่องในเล่มว่าอยู่หน้าใด  อีกทั้งช่วยให้ผู้ค้นคว้าเห็นขอบเขตเนื้อหาครอบคลุมถึงเรื่องใดบ้าง  สารบัญที่บ่งบอกหัวเรื่องใหญ่   หัวเรื่องรอง และหัวเรื่องย่อยอย่างละเอียดจะช่วยให้ผู้ค้นคว้าเข้าถึงเนื้อหาในเล่มได้ดีกว่าสารบัญที่มีแต่เฉพาะหัวเรื่องใหญ่

2. คำนำทาง (guide words)  จะปรากฏอยู่ที่มุมด้านบนของหน้ากระดาษ  เพื่อบอกให้ทราบว่าเนื้อหาที่หน้านั้นขึ้นต้นด้วยตัวอักษรตั้งแต่ตัวใดถึงตัวใด

3. ดัชนีริมหน้ากระดาษ หรือดัชนีหัวแม่มือ (thumb indexs)   จะปรากฏอยู่ที่ขอบหนังสือ  ซึ่งอาจจะใช้ตัวอักษร แถบสีเป็นสัญลักษณ์เพื่อบอกช่วงของเนื้อหาแต่ละตอน  ช่วยให้ผู้ค้นคว้าเปิดหาคำได้ทันที  หนังสืออ้างอิงที่ทำดัชนีริมหน้ากระดาษมักเป็นหนังสือรวมเรื่องหรือมีเนื้อหาสั้น ๆ หลายเรื่อง เช่น  สารานุกรม  พจนานุกรม
4. อักษรนำเล่ม (volume guide) จะปรากฏอยู่ที่สันของหนังสือ  เพื่อให้ทราบว่าหนังสือเล่มนั้นมีเนื้อหาเริ่มต้นตั้งแต่ตัวอักษรใด  มักจะทำกับหนังสือที่มีหลายเล่มจบ หรือที่เรียกว่าหนังสือชุด

5. ส่วนโยง (Cross Reference) คือ ส่วนที่แนะนำให้ไปอ่านเรื่องที่ต้องการจากหัวข้ออื่นในหนังสือเล่มนั้น  การโยงในหนังสืออ้างอิงมี 2 ลักษณะ คือ โยงดูที่ (see) และโยงดูเพิ่มเติมที่ (see also)
6. ดัชนีคำสำคัญ (index)  มักจัดทำไว้ท้ายเล่มของหนังสือ หรือถ้าเป็นหนังสือชุดจะทำดัชนีไว้เป็นเล่มสุดท้าย   ดัชนีทำหน้าที่ชี้บอกตำแหน่งคำสำคัญในเล่มว่าอยู่ที่หน้าใด  โดยนำคำสำคัญจากเนื้อหามาเรียงตามลำดับตัวอักษรพร้อมบอกเลขหน้าที่อยู่ในเล่ม  ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือช่วยค้นเนื้อหาได้ละเอียดกว่าการใช้หน้าสารบัญ    หนังสืออ้างอิงส่วนใหญ่จะทำดัชนีเป็นเครื่องมือช่วยค้น
วิธีใช้หนังสืออ้างอิงการใช้หนังสืออ้างอิง ผู้ใช้ควรต้องมีความเข้าใจในเรื่องต่อไปนี้
1. พิจารณาเรื่องที่ต้องการสืบค้นให้แน่ชัดว่าต้องการเรื่องอะไร  แล้วจึงเลือกประเภทหนังสืออ้างอิงที่คาดว่าจะให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการนั้น
2. อ่านคำชี้แจงหรือวิธีใช้ก่อนการใช้งาน  คำอธิบายวิธีใช้มักจะปรากฏอยู่ในส่วนนำเรื่องหรือเล่มแรกของหนังสือชุด
3. พิจารณาการเรียบเรียงเนื้อหาของหนังสืออ้างอิง โดยทั่วไปหนังสืออ้างอิงจะจัดเรียงเนื้อหาตามลำดับตัวอักษร  ตามลำดับหัวเรื่อง หรือตามลำดับเหตุการณ์
4. ศึกษาเครื่องหมาย  และอักษรย่อที่ใช้ในเล่ม  หนังสืออ้างอิงมักใช้สัญลักษณ์พิเศษหรืออักษรย่อ  เช่น สัญลักษณ์ที่ใช้สำหรับการออกเสียงคำ  อักษรย่อสำหรับบอกลักษณะและหน้าที่ของคำในหนังสืออ้างอิงประเภทพจนากรม  เป็นต้น
5. ใช้เครื่องมือช่วยค้นที่มีในหนังสืออ้างอิง โดยเฉพาะการใช้ดัชนีท้ายเล่ม  จะช่วยให้ค้นหาเรื่องราวในเล่มได้อย่างรวดเร็ว   ดัชนีช่วยค้นในหนังสืออ้างอิงแต่ละชื่อเรื่องมีวิธีใช้แตกต่างกัน  ดังนั้นก่อนใช้ดัชนีค้นเรื่องจึงควรอ่านวิธีใช้ให้เข้าใจ
ประเภทของหนังสืออ้างอิงหนังสืออ้างอิงจัดแยกตามลักษณะเนื้อหาได้ 2 ประเภท คือ
1. หนังสืออ้างอิงที่ให้สารสนเทศ   เป็นหนังสือที่ให้สารสนเทศเฉพาะเรื่องเช่น  พจนานุกรม สารานุกรม นามานุกรม  อักขรานุกรมชีวประวัติ  หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์  หนังสือคู่มือ และหนังสือรายปี
2. หนังสืออ้างอิงที่บอกแหล่งสารสนเทศ  เป็นหนังสือที่ไม่ให้สารสนเทศโดยตรง  แต่จะชี้แนะแหล่งสารสนเทศในที่อื่น ๆ  เช่น  หนังสือบรรณานุกรม และหนังสือดัชนีวารสาร
หนังสืออ้างอิงแต่ละประเภทให้ความรู้เฉพาะเรื่องที่แตกต่างกันออกไป  มีการเรียบเรียงเนื้อหา  รวมทั้งการจัดทำเครื่องมือช่วยค้นหาเรื่องราวในเล่มแตกต่างกัน  ดังนั้นผู้ใช้จึงควรทราบว่าหนังสืออ้างอิงแต่ละประเภทมีขอบเขตเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องใด  ในแต่ละประเภทมีหนังสืออะไรบ้าง  ในที่นี้จะอธิบายถึงขอบเขตเนื้อหาของหนังสืออ้างอิงแต่ละประเภท พร้อมทั้งตัวอย่างหนังสืออ้างอิงที่น่าสนใจดังนี้  (ประหยัด  ช่วยงาน,  2549)
พจนานุกรม (Dictionary)พจนานุกรม เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับคำ ได้แก่  ความหมายของคำ  ชนิดของคำ  ตัวสะกด  การันต์  การอ่านออกเสียง คำพ้อง คำตรงข้าม  อักษรย่อและสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับคำ   อาจมีตัวอย่างประโยคแสดงการใช้คำ เพื่อประกอบคำอธิบายด้วย
หนังสือพจนานุกรมจัดแบ่งตามเนื้อหาได้  2 ประเภทคือ


1.  พจนานุกรมทั่วไป คือ พจนานุกรมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับคำ หรือศัพท์สามัญที่คนทั่วไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งภาษาพูดภาษาเขียน แบ่งออกเป็น
1.1  พจนานุกรมฉบับสมบูรณ์ คือ พจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์ทุกคำที่มีใช้อยู่ในภาษา มีทั้งคำศัพท์เก่าและคำใหม่ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับคำเช่น ที่มาของคำ  คำอ่าน คำแปลอธิบายความหมายของคำอย่างละเอียด มีตัวอย่างประโยค และแสดงการใช้คำ
1.2  พจนานุกรมฉบับย่อ คือ พจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีคำจำนวนน้อย บอกคำอ่านและอธิบายความหมายของคำสั้น ๆ ไม่มีตัวอย่างประโยคที่แสดงการใช้คำ เช่น พจนานุกรม ศัพท์หมวดอังกฤษ- ไทย : ฉบับนักศึกษา
1.3  พจนานุกรมสองภาษา คือ พจนานุกรมที่ให้รวยการคำด้วยภาษาหนึ่ง และอธิบายหรือให้ความหมายของคำอีกภาษาหนึ่ง เป็นการเปรียบเทียบคำระหว่างสอง ภาษา เช่นพจนานุกรมไทย-อังกฤษ พจนานุกรมไทย-ฝรั่งเศส พจนานุกรมจีน-ไทย
1.4  พจนานุกรมหลายภาษา  คือ   พจนานุกรมที่ให้รวยการคำด้วยภาษาหนึ่ง   และอธิบายหรือให้ความหมายของคำภาษาอื่นมากกว่าสองภาษาขึ้นไป   เช่น พจนานุกรมภาษาไทย-อังกฤษ-ฝรั่งเศส-เยอรมัน   พจนานุกรมบาลี-สันสกฤต-ไทย-อังกฤษ เป็นต้น

2.  พจนานุกรมเฉพาะวิชา  คือ  พจนานุกรมที่รวบรวมคำศัพท์เฉพาะวิชามาไว้ในเล่มเดียวกัน ให้ความหมายของคำศัพท์นั้น เช่น ศัพท์ศาสนา พจนานุกรมภูมิศาสตร์ ศัพท์เทคโนโลยีสารสนเทศ ศัพท์คอมพิวเตอร์ พจนานุกรมดนตรี
ตัวอย่างหนังสือพจนานุกรม  ได้แก่
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542.  (2545).  กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน.  1436 หน้า.
เป็นพจนานุกรมรวบรวมคำศัพท์ทั่วไป  ทางราชการให้ ยกเลิกฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2493 และครั้งที่สอง พ.ศ. 2525  ให้ใช้ฉบับ พ.ศ. 2542  เป็นแบบฉบับการเขียนและการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง  การจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมศัพท์กฎหมาย  ศัพท์วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชื่อพืชและสัตว์  พร้อมทั้งตัวอย่างการใช้คำ  ท้ายเล่มมีภาพลายไทย  หน้าบัน  เรือ  พร้า  เครื่องจักรสาน  เครื่องดนตรีไทย  เครื่องมือจับสัตว์น้ำ  พรรณไม้  ปลา  หอย ปู  นก  และแมลง
ลองค์แมน.  (2547).  พจนานุกรม อังกฤษ-ไทย.  (ผู้แปล : รศ.ดร.วิภา สมานวังศะ บรรณาธิการ : ดร.พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ).  กรุงเทพฯ : เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น อินโดไชน่า.  584 หน้า
พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย แปลจาก Longman Basic English Dictionary อธิบายความหมายคำศัพท์ด้วยภาษาไทยที่เข้าใจง่าย พร้อมด้วยตัวอย่างการใช้คำในประโยค ส่วนหน้าแนะนำวิธีใช้พจนานุกรม คำศัพท์ในเล่มเรียงตามลำดับตัวอักษร และรวบรวมคำศัพท์เป็นหมวดหมู่อธิบายด้วยภาพประกอบเกี่ยวกับกิจกรรมนอกเมือง  ฤดูและอากาศ  สัตว์  กีฬา ห้องนอน ห้องครัว ผลไม้ อาชีพ ชอปปิ้ง บ้าน ห้องเรียน การคมนาคม ฯลฯ
พจนานุกรมภาพ.  (2545).  กรุงเทพฯ :  รีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย).  936  หน้า
พจนานุกรม 3 ภาษาคือ ไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส  เป็นพจนานุกรมที่ใช้ภาพอธิบายคำศัพท์ไม่น้อยกว่า 1,000 ภาพ  ครอบคลุมหัวข้อเรื่อง  600  หัวข้อ  จุคำศัพท์กว่า 25,000 คำ  เกี่ยวกับเรื่อง เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ  พืชและสัตว์รอบตัวเรา  การสื่อสาร  อาวุธยุทโธปกรณ์  ยานพาหนะ  และพลังงาน  มีดัชนีริมกระดาษทำเป็นแถบสี  และดัชนีภาษาไทยท้ายเล่มช่วยสืบค้นคำ
กองวิทยาศาสตร์.  (254).  ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ.  (พิมพ์ครั้งที่ 6).  กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.  406 หน้า
หนังสือที่รวบรวมศัพท์คอมพิวเตอร์และศัพท์เทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนศัพท์ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจ ฯลฯ จากภาษาอังกฤษมาบัญญัติศัพท์เป็นภาษาไทย เรียงตามลำดับอักษร A-Z  ท้ายเล่มมีคำเทียบไทย-อังกฤษ  คำนำหน้าหน่วยแสดงปริมาณด้วยตัวเลขที่ใช้มากในงานคอมพิวเตอร์ ตารางแอสกี รหัสสำหรับอักขระไทยที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ อักขระไทยรหัสฐานสิบและฐานสิบหก
กองธรรมศาสตร์และการเมือง.  (254).  ศัพท์เศรษฐศาสตร์ อังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ.  กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.  626 หน้า
หนังสือที่รวบรวมคำศัพท์ทางด้านเศรษฐศาสตร์ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น พาณิชยศาสตร์ การคลังสาธารณะ การเงิน การธนาคาร การบัญชี รวมทั้งศัพท์ที่ใช้ในวงการเศรษฐกิจ จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย รวมจำนวน 6,387 คำ
กองศิลปกรรม.  (254).  พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม เล่ม 3 อักษร ฉ-ช.  กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.  145 หน้า
หนังสือชุดพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม เป็นหนังสือที่รวบรวมคำศัพท์เฉพาะทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และจุลศิลป์  อธิบายคำศัพท์เกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการ เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ทางศิลปะสาขาต่าง ๆ เรียงตามลำดับอักษร ก-ฮ

สารานุกรม (Encyclopedia)สารานุกรม คือ หนังสือที่รวบรวมความรู้ในแขนงวิชาต่างๆ โดยผู้ชำนาญในแต่ละสาขาวิชา   จัดเรียงเนื้อหาตามลำดับอักษรหรือแบ่งเป็นหมวดหมู่วิชา  สารานุกรมอาจมีเล่มเดียวจบ หรือเป็นหนังสือชุด
หนังสือสารานุกรมจัดแบ่งตามเนื้อหาได้  2 ประเภทคือ

1. สารานุกรมทั่วไป เป็นสารานุกรมที่ให้ความรู้ในวิชาต่างๆ ไม่จำกัดสาขาให้ความรู้กว้าง ๆ พอเป็นพื้นฐานสำหรับผู้อ่านทั่วไป แบ่งออกเป็นสารานุกรมสำหรับเด็กและสารานุกรมสำหรับผู้ใหญ่ เช่น  สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

2. สารานุกรมเฉพาะวิชา เป็นสารานุกรมที่ให้ความรู้ในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างละเอียดลึกซึ้งกว่าสารานุกรมทั่วไป  เขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะสาขาวิชานั้น ๆ เช่น สารานุกรมประวัติศาสตร์ สารานุกรมของใช้พื้นบ้านไทยในอดีต สารานุกรมชุดร่างกายของเรา
 ตัวอย่างหนังสือสารานุกรม ได้แก่
กองศิลปกรรม.  (2498- ).  สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน.  พระนคร : ราชบัณฑิตยสถาน.
หนังสือชุดสารานุกรมเกี่ยวกับความรู้ต่าง ๆ เช่น บุคคลสำคัญ  เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์  ภูมิภาค ประเทศ นครและเมืองสำคัญ ดาราศาสตร์ เชื้อชาติของมนุษย์ ศาสนา ปรัชญา ลัทธินิกาย วรรณกรรมสำคัญ ตำนาน นิทาน นิยายโบราณ ตัวละครสำคัญในวรรณคดี การเมือง สังคม เศรษฐกิจ สถาบัน วันสำคัญ วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม พร้อมภาพประกอบสีและขาวดำ
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย.  (2542).  กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย  ธนาคารไทยพาณิชย์.
เป็นหนังสือชุดสารานุกรมวัฒนธรรมไทย 4 ภาค รวบรวมความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาไทย กำหนดกรอบเนื้อหา 18 หมวด ได้แก่ ความเชื่อและประเพณี อาชีพ เครื่องมือเครื่องใช้ ประวัติศาสตร์ การปกครองและสังคม อาหารการกิน การแต่งกายเครื่องประดับ สุขภาพอนามัย ภาษา วรรณกรรม ศิลปกรรม ศิลปะการแสดง การละเล่นของเล่นกีฬา สถานที่ กลุ่มชาติพันธุ์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตราชั่งตวงวัด เงินตรา บุคคลสำคัญ และการศึกษา  แต่งและเรียบเรียงโดยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จำนวน 500 คน เรียบเรียงเนื้อหาตามลำดับตัวอักษร ท้ายเล่มเป็นรายนามผู้เรียบเรียง
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน.  (2516-  ).  โดยพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  พระนคร  โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นสารานุกรมไทยแบบเป็นชุด เน้นความรู้ที่เกิดขึ้นและใช้อยู่ในประเทศไทย  แต่ละเล่มรวบรวมเนื้อเรื่องจากหลากหลายสาขาวิชา เนื้อหาของเรื่องต่างๆ เรียบเรียงให้เหมาะสมกับ 3 ระดับความรู้ ให้แก่เด็กรุ่นเล็ก เด็กรุ่นกลาง และเด็กรุ่นใหญ่ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่สนใจทั่วไป แต่ละเรื่องเริ่มต้นด้วยเนื้อหาของระดับเด็กรุ่นเล็ก ตามด้วยเ นื้อหาของรุ่นกลางและรุ่นใหญ่ตามลำดับ  เนื้อหาในแต่ละระดับพิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดต่างกัน  จัดทำต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบัน (พ.ศ.2549) มีถึงเล่มที่ 31 และมีฉบับเสริมการเรียนรู้
กองธรรมศาสตร์และการเมือง.  (254).  สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย เล่ม 2 อักษร ข-จ.  กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.  420 หน้า
หนังสือชุดที่มีเนื้อหาครอบคลุมประวัติบุคคลสำคัญ เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งราชธานี เมืองหลวง เมืองโบราณ ชื่อหน่วยงานราชการสมัยโบราณ สนธิสัญญาและกฎหมายเรียงตามลำดับอักษร ก-ฮ ท้ายเล่มมีดรรชนีค้นคำเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหา
The New Encyclopedia Britannica.  (15th ed.)  (c1974).  Chicago : Encyclopedia Britannica.
หนังสือสารานุกรมทั่วไปของประเทศอังกฤษ จำนวน 32 เล่ม เล่มที่ 1-12 เป็นเรื่องราวทั่วไป เรียงตามลำดับตัวอักษร เล่มที่ 13-29 ให้เนื้อหาลงลึกเฉพาะเรื่อง เล่มที่ 30-31 เป็นเล่มดัชนี เล่มที่ 32 เป็นเล่มแนะนำการใช้สารานุกรม ภาพประกอบสีและขาวดำ ปกแข็งหุ้มผ้าแร็กซีนอย่างดี
Encyclopedia Americanan.  (2004).  (International ed.)  Danbury, Connecticut : Scholastic Library.
หนังสือสารานุกรมทั่วไปของประเทศอเมริกา จำนวน 30 เล่ม เรียบเรียงเนื้อหาตามลำดับอักษร พร้อมงานประกอบสี ขาว-ดำ และลายเส้น เล่มแรกแนะนำการใช้สารานุกรม เล่มสุดท้ายเป็นเล่มดัชนี

นามานุกรม หรือทำเนียบนาม (Directory )
นามานุกรม คือ หนังสือที่รวบรวมรายชื่อบุคคล องค์กรต่างๆ พร้อมสถานที่ตั้งและหมายเลขโทรศัพท์  จัดเรียงรายการตามลำดับอักษร
หนังสือนามานุกรมแบ่งตามเนื้อหาได้  5 ประเภทคือ
1. นามานุกรมท้องถิ่น (local directory) เป็นนามานุกรมที่จัดทำขึ้นในท้องถิ่นต่างๆ
2. นามานุกรมของรัฐ (goverment directory) เป็นนามานุกรมที่หน่วยงานรัฐ จัดทำขึ้นเพื่อให้ข้อมูล เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐบาล
3. นามานุกรมสถาบัน (institutional directory) เป็นนามานุกรมที่รวบรวมชื่อสถาบันต่างๆ
4. นามานุกรมสาขาอาชีพ (professional directory) เป็นนามานุกรมที่ให้รายชื่อบุคคล ในสาขาวิชาชีพด้านใดด้านหนึ่ง
5. นามานุกรมการค้าและธุรกิจ (Trade and business directory) เป็นนามานุกรมที่ให้รายชื่อของบริษัท จัดทำโดยเอกชน เพื่อประโยชน์ในเชิงการค้า
ตัวอย่างหนังสือนามานุกรม ได้แก่
ใครเป็นใครในประเทศไทย.  (2506-  ).  พระนคร : คณะรัฐประศาสนศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งประเทศไทย.  (2536).  กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร,
นามานุกรมพิพิธภัณฑสถานในประเทศไทย.  (2517).  พระนคร : กรมศิลปากร.
สีดา สอนศรี.  (2528-  ).  นามานุกรมหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การระหว่างประเทศในประเทศไทย = Directory of government agenci.  กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.
พูนพิศ อมาตยกุล.  (2525).  นามานุกรมศิลปินเพลงไทยในรอบ 200 ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : รายงานผลการวิจัย.  กรุงเทพฯ : สถาบันไทยศึกษา ฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทำเนียบผลิตภัณฑ์ยา อุปกรณ์การแพทย์ อาหาร เคมีวัตถุอันตราย และธุรกิจเครื่องสำอาง.  (2545).  กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์.
นามสงเคราะห์ส่วนราชการไทย ฉบับย่อ = Thai government organizational directory.  (2545).  กรุงเทพฯ : กรมประชาสัมพันธ์.
Thai Electrical & Mechanical Contractors Association.  (1995-  ).  Bangkok : The Association,
Thailand IT directory… Compiled by Manager Information Services Co., Ltd.  .(1992?-  ).  Bangkok : IBP
Thai Musicians’ Directory = นามานุกรมดนตรีไทย.  (1975).  Bangkok : Department of Fine Arts/National Library Division.
นามานุกรมแหล่งทรัพยากรสารสนเทศ.  (2542).  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : คณะทำงานฝ่ายพัฒนาทรัพยากรสารนิเทศในคณะอนุกรรมการพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา.  422 หน้า
 รวบรวมรายชื่อแหล่งทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นร้านค้า หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน คือ แหล่งทรัพยากรได้เปล่าและแห่งจัดซื้อ เรียบเรียงเนื้อหาตามลำดับอักษรชื่อหน่วยงาน ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อหน่วยงาน ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์และประเภททรัพยากรที่มีให้บริการ

อักขรานุกรมชีวประวัติ (Biographical Dictionary)อักขรานุกรมชีวประวัติ คือ หนังสือที่รวบรวมประวัติชีวิตของบุคคลสำคัญให้รายละเอียดเกี่ยวกับ เชื้อชาติ สถานที่ เกิด  วัน เดือน ปี เกิด หรือ ตาย ระดับการศึกษา ผลงานดีเด่น เป็นต้น
หนังสืออักขรานุกรมชีวประวัติจัดแบ่งตามเนื้อหาได้  3 ประเภทคือ
1. อักขรานุกรมชีวประวัติของบุคคลทั่วไป (international biography) รวบรวมเรื่องราวของบุคคลที่มีชื่อเสียง โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ อาชีพหรือศาสนา โดยครอบคลุมเฉพาะประวัติของบุคคลที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น หรือสิ้นชีวิตไปแล้ว เท่านั้น
2. อักขรานุกรมชีวประวัติของบุคคลเฉพาะเชื้อชาติ (national / regional biography) ให้เรื่องราวของบุคคล ที่เกิด หรืออยู่ในแต่ละประเทศโดยเฉพาะ
3. อักขรานุกรมชีวประวัติของบุคคลเฉพาะอาชีพ (professional or subject biography) รวบรวมชีวประวัติ ของบุคคลที่มีชื่อเสียงอาชีพเดียวกันไว้ด้วยกัน
ตัวอย่างหนังสืออักขรานุกรมชีวประวัติ ได้แก่
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.  (2539).  ในหลวงของเรา.  กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.
หนังสือพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช    พระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   พระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ และพระราชไมตรีกับต่างประเทศ เขียนเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน พร้อมภาพประกอบสี
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.  (2549).  ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2548.  กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.
หนังสือชีวประวัติของศิลปินแห่งชาติ 4 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ สถาปัตยกรรม วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง ให้เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติ ชีวิตและผลงาน คำประกาศเกียรติคุณ ท้ายเล่มมีทำเนียบศิลปินแห่งชิต ตั้งแต่ปี 2528-ปัจจุบัน
สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ.  (2541).  สดุดีบุคคลสำคัญ เล่ม 16.  กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.
หนังสือประวัติบุคคลสำคัญทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบันในสาขาต่าง ๆ ที่ได้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ซึ่งเคยเผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์เล่มที่ 1 ตั้งแต่ปี 2525
กองศิลปกรรมสารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีและนักร้อง.  (254).  พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.   297หน้า
หนังสือที่รวบรวมประวัติและผลงานทางดนตรีของนักดนตรีและนักร้องที่มีชื่อเสียงและมีผลงานเป็นที่ยกย่อง ตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ถึงสมัยปัจจุบัน เรียงตามลำดับอักษร ก-ฮ มีดรรชนีค้นคำช่วยในการสอบค้น พร้อมภาพประกอบสีและขาวดำ
หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์  (Geographical Sources)    หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์ เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับชื่อสถานที่ทางภูมิศาสตร์ และสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เช่น ภูมิประเทศ  ภูมิอากาศ
หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์จัดแบ่งตามเนื้อหาได้  3 ประเภทคือ
1. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์
2. หนังสือนำเที่ยว
3. หนังสือแผนที่
ตัวอย่างหนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์  ได้แก่
สมุดภาพแผนที่โลก.  (2546).  กรุงเทพฯ : รีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย).  290 หน้า
เป็นหนังสือแผนที่โลกฉบับภาษาไทยที่สมบูรณ์  แปลจากหนังสือ Reader’s Digest Illustrated Atlas of the World   พร้อมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับระบบสุริยะจักรวาล  การเกิดโลก  โครงสร้างของโลก  ลักษณะธรรมชาติบนพื้นผิวโลก  เพื่อให้เห็นโลกทั้งในมุมกว้างและเฉพาะเจาะจงในแต่ละทวีปด้วยภาพแผนที่แสดงลักษณะทางภูมิประเทศ  ท้ายเล่มแนะนำ
ประเทศอิสระ  192 ประเทศและข้อมูลสรุปด้านภูมิศาสตร์กายภาพ  เศรษฐกิจ  การเมือง  ประวัติศาสตร์  สถิติประชากร  ธงประจำชาติ และดัชนีแผนที่โลกระบุเลขหน้าและพิกัดบนแผนที่  เพื่อให้ง่ายแก่การค้นหา
ท. สุขแสง.  (2545).  ท่องเที่ยวประเทศไทย 76 จังหวัด.   พิมพ์ครั้งที่ 2.  กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.  78 หน้า
เป็นหนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวทั้ง 76 จังหวัดในประเทศไทย  พร้อมด้วยแผนที่จังหวัด  แสดงเขตอำเภอและถนน  ให้ข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว  ประวัติจังหวัด  ขนาดพื้นที่  ระยะห่างจากกรุงเทพฯถึงจังหวัด  และตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
กองธรรมศาสตร์และการเมือง.  (254).  อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม 1.  (พิมพ์ครั้งที่ 4).  กรุงเทพฯ : ผู้แต่ง.  428 หน้า
หนังสือที่อธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์โดยทั่วไปของประเทศไทย เนื้อหาแบ่งออกเป็น ตอนที่ ๑ ลักษณะทางกายภาพ เช่น ที่ตั้ง ขนาด รูปร่าง ลุ่มน้ำและแหล่งน้ำ ภูมิอากาศ ตอนที่ ๒ ทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรการท่องเที่ยว เช่น ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ การท่องเที่ยว และตอนที่ ๓ การคมนาคมและประชากร รวม ๑๕ บท  มีแผนที่และภาพ พิมพ์ ๔ สี พร้อมทั้งตารางข้อมูลต่าง ๆ ประกอบคำอธิบาย
หนังสือคู่มือ  (Handbook)
หนังสือคู่มือ เป็นหนังสือที่ให้ข้อเท็จจริง ตัวเลข สถิติต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องราวที่ควรรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยเสนอข้อเท็จจริงอย่างสั้น เพื่อใช้เป็นคู่มือในการตอบคำถามเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งอย่างรวดเร็ว หรือคู่มือปฏิบัติในวิชาใดวิชาหนึ่งเช่น คู่มือในวิชาเคมี เป็นต้น
หนังสือคู่มือจัดแบ่งตามเนื้อหาได้  2 ประเภทคือ
1. หนังสือคู่มือทั่วไป  หนังสือคู่มือทั่วไป ให้ความรู้เบ็ดเตล็ดทั่ว ๆ ไปไม่จำกัดสาขาวิชา เช่น คู่มือผู้ซื้อ   Guinness Book of World Records เป็นต้น
2. หนังสือคู่มือเฉพาะวิชา รวบรวมความรู้เฉพาะสาขาวิชาพร้อมคำอธิบายอย่างสั้น ๆ เช่น ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป  เคล็ดลับน่ารู้คู่บ้านและครอบครัว.  How Science Works  เป็นต้น
ตัวอย่างหนังสือคู่มือ  ได้แก่
สุรเกียรติ  อาชานานุภาพ.  (2544).  ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป : หลักการวินิจฉัยและรักษาโรค/280 โรค และการดูแลรักษา.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพฯ : หมอชาวบ้าน.  950 หน้า
เป็นหนังสือคู่มือสำหรับบุคลากรทางสาธารณสุขและประชาชนทั่วไป  ให้ความรู้ด้านการวินิจฉัยโรค  การดูและรักษาและป้องกันโรค   แบ่งเนื้อหาเป็น 4 ภาคคือ  การวินิจฉัยโรคและรักษาโรค  อาการของโรคต่าง ๆ  การใช้ยา  และภาคผนวก    ใช้ภาษาง่าย ๆ คนทั่วไปอ่านได้  พร้อมภาพประกอบลายเส้น  มีสารบัญแบ่งเนื้อหาอย่างละเอียดและดัชนีท้ายเล่ม
เคล็ดลับน่ารู้คู่บ้านและครอบครัว.  (2544).  กรุงเทพฯ : รีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย). 472 หน้า
เป็นหนังสือคู่มือที่รวบรวมเกร็ดความรู้เกี่ยวกับบ้าน เช่น  การจัดเก็บเอกสาร  การจัดการเงิน  การบำรุงรักษาและซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน  การเลือกซื้อ เก็บรักษาและเคล็ดลับการเตรียมอาหาร  การตกแต่งสวนและการดูแลเครื่องเรือน พร้อมภาพประกอบสี และดัชนีท้ายเล่ม
Hann, Judith.  (1992).  How Science Works.  4 th ed.  London : Dorling Kinderley.  192 p.
เป็นหนังสือคู่มือการทดลองทางวิทยาศาสตร์  อธิบายด้วยภาพประกอบสีสวยงามเป็นขั้นตอนตามลำดับ  เรื่องสสาร   อะตอม  พลังงาน  แรงและการเคลื่อนที่  แสง  เสียง  อากาศ  น้ำ  ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์  ท้ายเล่มมีอภิธานศัพท์อธิบายศัพท์เทคนิคทางวิทยาศาสตร์  และดัชนีค้นเรื่อง   เหมาะสำหรับครูและนักเรียนทำโครงงานทดลองวิทยาศาสตร์


หนังสือรายปี (Yearbook)
หนังสือรายปี คือ หนังสือที่พิมพ์ออกเป็นรายปี ให้ข้อมูล ข่าวสาร ในรอบปีที่ผ่านมา   โดยนำเสนอสารสนเทศแบบพรรณนาอย่างสั้นๆ มีตัวเลข  ตาราง  สถิติประกอบ
หนังสือรายปีแบ่งได้  4 ประเภทคือ
1. หนังสือรายปีของสารานุกรม จัดทำขึ้นเพื่อปรับปรุงเนื้อหาในสารานุกรมให้ทันสมัยอยู่เสมอเป็นประจำทุกปี
2. หนังสือสรุปผลงานประจำปี   เป็นหนังสือรายงานผลงานประจำปีของหน่วยงานทั้งภาครัฐและหน่วยงานเอกชน
3. หนังสือรายปีเฉพาะด้าน จะให้ข้อมูลสังเขปพร้อมตัวเลขสถิติเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการในสาขาใดสาขาหนึ่ง  หรือเรื่องราวของประเทศใดประเทศหนึ่ง
4. สมุดสถิติรายปี  จะรวบรวมเฉพาะสถิติตัวเลขทางด้านต่าง ๆ
ตัวอย่างหนังสือรายปี  ได้แก่
สมุดสถิติรายปีประเทศไทย พ.ศ.2549.  (2549).  กรุงเทพฯ : สำนักงานสถิติแห่งชาติ.  523 หน้า
เป็นหนังสือที่รวบรวมข้อมูลสถิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากรายงานผลสำมะโนและการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ  โดยระบุแหล่งที่มาของข้อมูลไว้ในบทนำแต่ละบทและใต้ตารางสถิติทุกตาราง

ปฏิทินเหตุการณ์รายปี หรือ สมพัตสร (Almanac)
ปฏิทินเหตุการณ์รายปี  หรือสมพัตสร  เป็นหนังสือที่รวบรวมข่าว  เหตุการณ์สำคัญ  สถิติ  ในรอบปีที่ผ่านมา  รวมทั้งความรู้เบ็ดเตล็ดต่าง ๆ  โดยนำเสนอสารสนเทศเรียงตามวันเดือนปี
หนังสือสมพัตสรจัดแบ่งตามเนื้อหาได้  2 ประเภทคือ
1. ปฏิทินเหตุการณ์รายปีที่ให้เรื่องราวทั่ว ๆ ไปทุกด้าน
2. ปฏิทินเหตุการณ์รายปีที่ให้เรื่องราวเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งหรือเฉพาะด้าน
ตัวอย่างหนังสือปฏิทินเหตุการณ์รายปี หรือสมพัตสร  ได้แก่
The World Almanac and Book of Facts.  (2000).  New York : World Almanac Books.
หนังสือรายงานเหตุการณ์สำคัญในรอบปี บทวิจารณ์ข่าว ข้อมูลสถิติ ด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ ประชากร กีฬา มีสารบัญและดัชนีช่วยค้นเรื่องอยู่ส่วนต้นเล่ม
สิ่งพิมพ์รัฐบาล (Government Publication)
สิ่งพิมพ์รัฐบาลมีประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้ามาก เนื่องจากเป็นแหล่งความรู้ดั้งเดิม (Primary source) ที่ให้หลักฐาน ข้อมูลสถิติ และเรื่องราวของทางราชการที่เชื่อถือได้ และข้อเท็จจริงที่ทันสมัย เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ ผลงาน ของทางราชการ
หนังสือสิ่งพิมพ์รัฐบาลจัดแบ่งตามเนื้อหาได้  17 ประเภทคือ 
1. รายงานการบริหาร
2. รายงานสถิติ
3. รายงานของคณะกรรมการต่างๆ   
4. รายงานการค้นคว้า และวิจัย
5. ร่างกฎหมายและมติต่างๆ
6. ผลการพิจารณา
7. วารสารและรายงานการประชุม
8. กฎหมาย รวมบทกฎหมาย และประมวลกฎหมายต่างๆ
9. คำพิพากษา และความเห็นศาล
10. ระเบียบ กฎข้อบังคับ และคู่มือต่างๆ
11. ทำเนียบ และทะเบียน
12. บรรณานุกรม และรายชื่อต่างๆ
13. เรื่องราวและรายละเอียดต่างๆ ของราชการ
14. วารสาร
15. ข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริง นโยบาย ความคิดเห็น และการดำเนินงานตามแผนพัฒนา
16. แผนที่ และแผนภูมิ
17. ภาพยนตร์ อุปกรณ์โสตทัศน์วัสดุ และแบบจำลองต่าง ๆ
ตัวอย่างของสิ่งพิมพ์รัฐบาล  ได้แก่
ราชกิจจานุเบกษา เป็นสิ่งพิมพ์รัฐบาลที่รวบรวมเรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย กฎกระทรวง และประกาศต่างๆที่รัฐบาลประกาศใช้ในปัจจุบัน  โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ตอน คือตอนที่ 1 แผนกกฤษฎีกา รวบรวมกฎกระทรวง พระราชบัญญัติ และพระราชกฤษฎีกาตอนที่ 2 แผนกราชกิจจา มีประกาศคำสั่ง แจ้งความของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยราชการทุกแห่ง

หนังสือดัชนี (Index)
หนังสือดัชนี เป็นหนังสือที่รวบรวมรายชื่อบทความจากวารสารต่าง ๆ  ให้รายละเอียดทางบรรณานุกรมของวารสาร ได้แก่   ชื่อแต่งหรือผู้เขียนบทความ  ชื่อวารสาร ปีที่ออก ฉบับที่ออก และเลขหน้าที่ปรากฏบทความ   หนังสือดัชนีบางเล่มให้สาระสังเขปเนื้อเรื่องเพื่อให้ผู้ค้นคว้าทราบขอบเขตเนื้อเรื่องในบทความก่อนไปอ่านบทความฉบับจริง
หนังสือดัชนีจัดแบ่งตามเนื้อหาได้  4 ประเภทคือ
1. ดรรชนีวารสาร
2. ดรรชนีหนังสือพิมพ์   
3. ดรรชนีหนังสือรวม เรื่อง  
4. ดรรชนีที่ห้องสมุดจัดทำ 

หนังสือบรรณานุกรม (Bibliography) หนังสือบรรณานุกรม เป็นหนังสือที่รวบรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศต่าง ๆ  ให้รายละเอียดทางบรรณานุกรมของหนังสือ ได้แก่ ชื่อผู้แต่ง  ชื่อหนังสือ  ปีที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์   เพื่อให้ผู้ค้นคว้าสามารถติดตามหาหนังสือที่ต้องการได้
หนังสือบรรณานุกรมจัดแบ่งตามเนื้อหาได้  5 ประเภทคือ
1. บรรณานุกรมสากล     รวบรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศทุกประเภทโดยไม่จำกัดว่าเป็นทรัพยากรสารสนเทศของชาติใด  ภาษาใด
2. บรรณานุกรมแห่งชาติ   รวบรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ
3. บรรณานุกรมร้านค้า  รวบรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศที่จัดพิมพ์โดยร้านค้าหรือสำนักพิมพ์เพื่อแนะนำทรัพยากรสารสนเทศใหม่ ๆ
4. บรรณานุกรมเฉพาะวิชา รวบรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง
5. บรรณานุกรมเลือกสรร  รวบรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศที่เลือกสรรแล้วว่ามีคุณค่า
ตัวอย่างหนังสือบรรณานุกรม  ได้แก่
กองหอสมุดแห่งชาติ  กรมศิลปากร.  (2521).  บรรณานุกรมแห่งชาติ ประจำปี 2518.  กรุงเทพฯ :   ผู้แต่ง.
เป็นหนังสือบรรณานุกรมแห่งชาติรวมรวมรายชื่อทรัพยากรสารสนเทศที่มีบริการในหอสมุดแห่งชาติของไทย เริ่มพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2501 โดยความร่วมมือระหว่างหอสมุดแห่งชาติและห้องสมุดสถาบันและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ 16 แห่ง เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งได้รับความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ  ส่งผู้เชี่ยวชาญมาวาง ระบบงานคอมพิวเตอร์จนเสร็จในปี 2521    แต่การดำเนินงานอยู่ในระยะทดลองโปรแกรม   การจัดพิมพ์จึงล่าช้ากว่ากำหนด   ในปี พ.ศ. 2535 หอสมุดแห่งชาติได้สร้างฐานข้อมูลหนังสือขึ้น โดยการนำระบบห้องสมุดอัตโนมัติ (DYNIX) มาใช้ในการปฏิบัติงานของหอสมุด   และจัดพิมพ์บรรณานุกรมแห่งชาติโดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา    ปัจจุบันหอสมุดแห่งชาติได้เชื่อมโยงฐานข้อมูลไปยังห้องสมุด 6 แห่งในกรุงเทพมหานคร   เพื่อสามารถให้เรียกใช้ข้อมูลบรรณานุกรมของหอสมุดแห่งชาติได้  (ธารา  กนกมณี, 2540)
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคนอื่นๆ.  (2542).  บรรณานุกรมว่าด้วยเรื่องอยุธยา.  กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.  724 หน้า
 เป็นหนังสือรวบรวมรายชื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ ทั้งวารสาร บทความ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ และเอกสารประกอบการประชุม   ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอยุธยา  ทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ศิลปวัฒนธรรม และโบราณคดี    เรียบเรียงบรรณานุกรมตามลำดับอักษรของหัวเรื่อง ท้ายเล่มมีดัชนีผู้แต่ง
วิทยากร เชียงกูล และคณะ.  (2541).  แนะนำหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน.
 รวบรวมรายชื่อหนังสือที่คัดเลือกจำนวน 100 รายชื่อ พร้อมด้วยบทแนะนำเชิงวิจารณ์ ท้ายเล่มมีบรรณานุกรม หนังสือที่นำมาวิจารณ์และดัชนีชื่อเรื่อง
การเลือกใช้หนังสืออ้างอิงการค้นหาความรู้จากหนังสืออ้างอิงควรรู้จักเลือกใช้หนังสืออ้างอิงให้เหมาะสมกับลักษณะของปัญหาดังต่อไปนี้  (สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตนนทบุรี, 2549)
1. ความรู้ด้านภาษาเกี่ยวกับคำศัพท์ อักษรย่อ หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ ควรค้นจากพจนานุกรมทั่วไป หรือพจนานุกรมเฉพาะวิชา ถ้ามีคำศัพท์สมัยโบราณควรดูจากพจนานุกรมฉบับสมบูรณ์ ถ้าเป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นใหม่ควรดูจากภาคผนวกของหนังสือพจนานุกรม ซึ่งอาจมีบัญชีคำหรือคำศัพท์ใหม่ๆ
2. ความรู้พื้นฐานในเรื่องทั่ว ๆ ไปอย่างกว้าง ๆ ควรค้นจากสารานุกรมโดยเริ่มจากดรรชนีของสารานุกรมชุดนั้น ถ้าเป็นเรื่องใหม่ ๆ ควรดูจากหนังสือรายปีของสารานุกรมชุดนั้น
3. ความรู้เกี่ยวบุคคลที่มีชื่อเสียง ประวัติบุคคลสำคัญ และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ควรค้นจาก
3.1 อักขรานุกรมชีวประวัติ
3.2 สารานุกรม
3.3 พจนานุกรมฉบับสมบูรณ์
3.4 ดรรชนีวารสาร
3.5 หนังสือรายปี (ระยะที่บุคคลนั้นมีชื่อเสียงอยู่ )
3.6 นามานุกรม
4. ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวและเหตุการณ์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ควรค้นจาก
4.1 หนังสือรายปี
4.2 ดรรชนีวารสาร
5. ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวทางภูมิศาสตร์ ทางด้านลักษณะที่ตั้ง ระยะทางตำแหน่งที่ตั้งควรค้นจาก
5.1 อักขรานุกรมภูมิศาสตร์
5.2 สารานุกรม
5.3 หนังสือแผนที่
6. ความรู้เกี่ยวกับหนังสือและสิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อหนังสือในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือรายชื่อหนังสือที่ดี ควรค้นหาคำตอบจากหนังสือบรรณานุกรม
7. ความรู้เกี่ยวกับชื่อเฉพาะต่าง ๆ ควรค้นจาก
7.1 นามานุกรม
7.2 หนังสือรายปี
สรุป
หนังสืออ้างอิง เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ  เพื่อใช้หาคำตอบหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง   มีลักษณะแตกต่างจากหนังสือทั่วไปทั้งลักษณะรูปเล่ม   การเรียบเรียง  รวมทั้งการมีเครื่องมือช่วยค้นภายในเล่ม
หนังสืออ้างอิงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทบอกแหล่งสารนิเทศ ได้แก่หนังสือบรรณานุกรมและหนังสือดัชนี  และประเภทตอบคำถามได้ทันที ได้แก่หนังสือพจนานุกรม  สารานุกรม  นามานุกรม  อักขรานุกรมชีวประวัติ  หนังสืออ้างอิงทางภูมิศาสตร์  หนังสือคู่มือ  และหนังสือรายปี
การใช้หนังสืออ้างอิง นอกจากจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับขอบเขตเนื้อหาของหนังสืออ้างอิงแต่ละประเภทแล้ว  ผู้ใช้ยังต้องรู้จักใช้เครื่องมือช่วยค้นคว้าภายในเล่ม เช่น  สารบัญ  คำนำทาง  อักษรนำเล่ม  ส่วนโยง  ดัชนีริมกระดาษ  และดัชนีคำสำคัญท้ายเล่ม เป็นต้น  รวมทั้งการอ่านคำชี้แจงหรือวิธีใช้ก่อนการค้นคว้า เพื่อให้ทราบถึงลักษณะการเรียบเรียงเนื้อหา  เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์พิเศษที่ใช้ในเล่ม  เพื่อให้สามารถเข้าถึงสารสนเทศที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
คำถามท้ายบท
1. หนังสืออ้างอิง หมายถึงหนังสืออะไร
2. หนังสืออ้างอิงมีลักษณะแตกต่างจากหนังสือทั่วไปอย่างไร  จงอธิบาย
3. เครื่องมือช่วยค้นสารสนเทศในหนังสืออ้างอิงมีอะไรบ้าง จงอธิบาย
4. จงบอกหลักการใช้หนังสืออ้างอิง ผู้ใช้ต้องมีความเข้าใจในเรื่องใดบ้าง
5. หนังสืออ้างอิงมีกี่ประเภท  อะไรบ้าง  จงอธิบาย
6. หนังสือรายปีกับสมพัตสรต่างกันอย่างไร  จงอธิบาย
7. หนังสือบรรณานุกรมกับหนังสือดัชนีต่างกันอย่างไร  จงอธิบาย
8. จงบอกชื่อหนังสืออ้างอิงที่ผลิตโดยราชบัณฑิตยสถาน มาจำนวน  4  ชื่อ
9. จงบอกชื่อหนังสืออ้างอิงที่เรียบเรียงเนื้อหาตามลำดับตัวอักษร มาจำนวน  4  ชื่อ
10. แนะนำหนังสืออ้างอิงที่ท่านสนใจมา  1  ชื่อเรื่อง  โดยให้มีหัวข้อในการแนะนำดังนี้
10.1 แหล่งที่มา หรือผู้แต่งเป็นใคร
10.2 มีขอบเขตเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องใด
10.3 จัดเป็นหนังสืออ้างอิงประเภทใด
10.4 มีการเรียบเรียงเนื้อหาอย่างไร
10.5 มีเครื่องมืออะไรบ้างที่ช่วยในการค้นหาสารสนเทศ
10.6 มีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจอะไรบ้าง
ขอขอบคุณ https://tanoo.wordpress.com/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-4-%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%87/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น